วัวเทียมเกวียน

2

วัวเทียมเกวียน ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญา ของ ชาวเมืองพริบพรี (เพชรบุรี) วัวเทียมเกวียน ที่แต่ละหมู่บ้านในกลุ่มนักเลงเมืองเพชร โดยเฉพาะในเขตอำเภอบ้านลาด ท่ายาง และอำเภอเมือง ยังคงคึกคักอยู่ในทุกวันนี้ นับเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน

การแข่งขันวัวเทียมเกวียน หรือนำวัวเทียมเกวียนเข้าร่วมขบวนแห่ในเทศกาล หรืองานมงคลต่างๆ ถือเป็นการสืบทอดภูมิปัญญามิให้เสื่อมสูญ เป็นการเอาเกวียนเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาใช้ โดยเฉพาะเมื่อจะแข่งขันวัวเทียมนั้น ต้องใช้วัวเทียมเกวียน 2 เล่ม เล่มละ 2 ตัว วิ่งในลู่ทางตรงระยะทางประมาณ 100 เมตร ครึ่งหนึ่งของทางวิ่งต้องทำรั้วเตี้ยๆ ป้องกันมิในวัววิ่งออกนอกลู่ การแพ้ชนะนั้น ถือตามกติกาแล้วแต่ตกลงกัน เช่น ต้องชนะขาดลำ คู่คี่ เกวียนสะกัน หรือเกี่ยวลากกันไป เป็นต้น

นอกจากฝีเท้าวัวและความเฉียวฉลาดของวัวแล้ว คนบังคับวัววิ่ง หรือคนแทงวัวประจำเกวียนก็มีส่วนสำคัญ เพราะเป็นบุคคลที่จะลงปัฏกวัวไปตลอดการแข่งขัน เพื่อกระตุ้นให้วัววิ่งสุดกำลังตรงไปยังเส้นชัย

ในความเป็นจริงแล้ว กีฬาแข่งขันวัวเทียมเกวียนนิยมเล่นกันตามทุ่งนาป่าตาล หลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว ลมทุ่งพัดโชยมาเฉื่อยๆ กำลังเย็นสบาย ถือเป็นการพักผ่อนของชาวเมืองเพชรที่มีวัวเป็นผู้ร่วมทุกข์ยาก หลังจากที่ได้ตรากกรำ เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าช่วงฤดูหว่านดำและเก็บเกี่ยวมาแล้ว

ปรากฏหลักฐานบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ขึ้นเมื่อปี ร.ศ. 109 ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองเพชร พระองค์ทรงสนพระทัยกีฬาเทียมเกวียน โปรดฯ ให้จัดการแข่งขันขึ้นที่บริเวณสนามหน้าเขาวัง ซึ่งในช่วงเวลานั้น เรียก นาหลวง โดยเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขัน ณ ที่ประทับศาลานักขัตฤกษ์ ตั้งอยู่ริมเขาวัง ด้านทิศตะวะออก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 – 2484 กระทรวงมหาดไทย ได้ประสานมายังจังหวัดเพชรบุรี ให้จัดส่งกีฬาวัวเทียมเกวียน และวักละดอก หรือวัวลาน ไปแสดงให้ประชาชนดูที่ทุ่งพระเมรุ ท้องสนามหลวง ในช่วงงานเทศกาลตรุษสงกรานต์ โดยมี ร.อ.ขุนชาญใช้จักร ร.น. มอบหมายให้นายเทพ โซ๊ะเหม เป็นหัวหน้าวัวจากตำบลต่างๆ รวม 65 ตัว ไปแข่งขัน

นับเป็นประวัติศาสตร์กีฬาพื้นบ้านของจังหวัดเพชรบุรี หรือเมือง พริบพรี โบราณ ที่ได้นำวัวและเกวียนไปแสดงยังเมือหลวง แสดงให้เห็นภูมิปัญญาและศิลปกรรมอันเป็นของดีของเด่นเมืองเพชร ที่ยังมีเกวียนและวัวให้พบเห็นนับร้อยเล่มในทุกวันนี้

ปัจจุบัน ยังได้สืบทอดฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นเอาไว้ ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านองค์กรบริหารส่วนตำบล เทศบาลฯ และประชาชนชาวอำเภอบ้านลาดทุกหมู่บ้านได้ร่วมจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2541 ณ ทุ่งนาสนามแข่งชั่วคราว ริมถนนเพชรเกษม บริเวณหลัก ก.ม.ที่ 173 ตำบลท่าเสน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ในงานพระนครคีรี เมืองเพชร ครั้งที่ 17 และจัดต่อเนื่องมาตลอด จนทุกวันนี้

ลุงช่อ เทศอ้น ศิลปินช่างทำมีดเหน็บโบราณ บ้านม่วงงาม อำเภอบ้านลาด ได้เราตำนานวัวเมืองเพชรให้ฟังว่า

เมื่อครั้งมนุษย์ยังต้องลากคันไถ ไถนา ปลูกข้าวด้วยตนเอง 7 วันจึงจะได้กินข้าว เพียง 1 มื้อ เท่านั้น พระอินทร์ทรงรู้โดยญาณวิเศษ ก็ทราบว่ามนุษย์ลำบากยากเข็ญนัก จึงประสิทธิประสาทพร ออกคำสั่งให้วัวบอกมนุษย์ว่า 3 วัน ให้กินข้าว 1 มื้อ ความดีใจที่ได้มาเที่ยวเมืองมนุษย์ วัวรับคำสั่งพระอินทร์ มาบอกมนุษย์ว่า ให้กินข่าววันละ 3 มื้อ เนื่องจากจดจำคำสั่งผิด พระอินทร์รู้สึกโมโหวัวเป็นอันมาก จึงสาปให้วัวไปช่วยมนุษย์ไถนา มนุษย์เราจึงมีข้าวกินทุก 3 มื้อ ก็เพราะมีวัวมาช่วย

แต่เนื่องจากวัวเคยอยู่บนสวรรค์กินแต่ของทิพย์ มิเคยเห็นต้นข้าวมาก่อน ครั้นได้พบเห็นต้นกล้าข้าวที่เขียวขจีตรงหน้า ให้นึกยากกิน จึงขโมยกล้าข้าวของชาวนากิน พระอินทร์สอดส่องพระเนตรลงมาเห็นเข้าพอดี ทรงรับสั่งเรียกวัวขึ้นไปพบ แล้วตบฉาดไปที่หน้าวัว เป็นเหตุให้ฟันวัวร่วงเกือบหมดปาก ทุกวันนี้วัวจึงไม่มีฟันบน

1